สารให้ความหวาน ไม่อ้วน จริงหรือ ?

Rate this item
(1 Vote)
สารให้ความหวาน ไม่อ้วน จริงหรือ ?

ผมสงสัยมานานแล้วว่าถ้าเราไม่ทานน้ำตาลแล้วทานสารให้ความหวานแทนจะมีผลอย่างไรบ้าง ถ้ามันแทนกันได้จริง แบบนี้คนทั้งโลกก็จะไม่อ้วนกันแล้วสินะ

เวลาที่ใครที่คิดจะลดความอ้วน ผมเชื่อว่าน่าจะมีคำถามนี้ว่า ให้ลดน้ำตาล แล้วทานสารให้ความหวานแทนได้รึเปล่า ผมก็เป็นอีกคนที่รู้สึกว่าชอบที่จะทานน้ำอัดลมหวานๆ มันทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาจริงๆ แต่เมื่อเราต้องการควบคุมน้ำหนัก สิ่งที่ทุกคนจะบอกคือให้ลดน้ำตาล ลดเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชานมไข่มุก ขนมหวาน และที่สำคัญก็คือ น้ำอัดลม เค้าว่ากันว่าเป็นอันดับต้นๆที่ทำให้คนเป็นโรคอ้วนกันเลยทีเดียว 

ทีนี้ถ้ามันไม่ดีแล้วจะขายทำไม ก็มันอร่อยก็ขายได้ คนซื้อก็พอใจจะซื้อ เราก็ดื่มน้ำอัดลมในมื้ออาหารกันจนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันไปแล้ว สุดท้ายเพื่อเอาใจคนกลัวอ้วนก็เลยมีน้ำอัดลมหลายยี่ห้อ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเวอร์ชันที่ไม่มีน้ำตาล อ่าว แล้วไม่มีน้ำตาลก็ไม่อร่อยสิ แต่ไม่ใช่แค่นั้นไม่มีน้ำตาลแต่ยังหวานเหมือนเดิมจ้า แบบนี้ก็ดีสิไม่มีน้ำตาล ไม่อ้วน แถมยังหวานเหมือนเดิมด้วย แบบนี้เราก็ดื่มกันได้สบายใจละไม่ต้องกลัวอ้วน 555

เดี๋ยวก่อนๆ อย่าเพิ่งดีใจไป ลองอ่านข้างขวดดีๆก่อนมีอะไรอยู่บ้าง เราจะพบว่ามีสารให้ความหวานหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว จึงต้องทำการค้นคว้าแล้วก็พบว่า สารให้ความหวานแต่ละแบบมีผลข้างเคียงแตกต่างกันด้วย - -" แย่ละ แล้วแบบไหนให้ผลเป็นยังไง ผมพบว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาล(Non-nutritive sweeteners หรือ NNS) จะมีอยู่สองแบบหลักๆ คือ

1. กลุ่มสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้พลังงาน ซึ่งเป็นน้ำตาลจากผลไม้ อันได้แก่ ฟรุกโทส มอลทิซอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล

2. กลุ่มสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ เช่น ซูคราโลส สตีเวีย ซึ่งเป็นสารสกัดจากหญ้าหวาน แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค แซคคารีน หรือที่เรียกว่าขัณฑสกร

ซึ่งหมายความว่าถ้าเราทานสารให้ความหวานแบบกลุ่มแรกไปมากๆเราก็อาจจะอ้วนได้

แต่อย่างไรก็ตามผลการวิจัยของประเทศแคนาดา จากผู้ทดลองกว่า 400,000 คน ในช่วงเวลาราว ๆ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลก็พบว่า กลุ่มผู้ทดลองที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นประจำกลับอ้วนขึ้น มีน้ำหนักตัวมากกว่าเดิม และมีรอบเอวกว้างขึ้นเช่นกัน มิหนำซ้ำยังพบความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง (กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก), โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเมื่อ กพ 2018 เกี่ยวกับโรคอ้วนในเด็กที่ทั้งแม่ที่ตั้งครรภ์และเด็กมีการรับประทานสารให้ความหวาน พบว่าอาจจะมีผลกระทบให้เกิดโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน

ผมไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านตื่นตกใจไป เพียงแต่ต้องการให้ตระหนักและระวังถึงอันตรายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น หากเราไม่รู้ว่าเรารับประทานอะไรไปแล้วจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้างครับ ถ้าเราไม่รู้เราอาจจะยังทานสิ่งนั้นในปริมาณที่มากและต่อเนื่องโดยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ครับ

สรุปคือ สารให้ความหวานเป็นตัวช่วยและทางเลือกอีกทางสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงน้ำตาล เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักที่จะเลือกทานกลุ่มของสารให้ความหวานที่ได้จากธรรมชาติมากกว่า และทานในปริมาณที่เหมาะสม และทานเมื่อจำเป็นเท่านั้นจะดีกว่าครับ

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

Food Science and Technology Association of Thailand, kapook, NCBI, PMC