บริจาคโลหิตกันเถอะ

Rate this item
(0 votes)
บริจาคโลหิตกันเถอะ

ใครที่คิดว่าตอนนี้เป็นโรคทรัพย์จาง แต่เลือดไม่จาง หรืออยากจะทำบุญกุศลยิ่งใหญ่ด้วยการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ มาบริจาคโลหิตกันดีไหม ทุกวันนี้ เลือดยังเป็นที่ต้องการอีกมาก ขับรถผ่านถนนอังรีดูนังต์ทีไร จะเห็นตัวเลขจำนวนยูนิตของเลือดที่ยังขาด ซึ่งแปะไว้หน้า ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ เป็นหลักพัน หลักหมื่นทุกที นอกจากเหตุการณ์สึนามิ ที่ประชาชนพร้อมใจกันมาบริจาคเลือดอย่างถล่มทลายแล้ว ทราบว่าวาระอื่นๆ ยอดบริจาคก็ยังคงมีน้อย

คุณๆ ที่ไม่เคยอาจจะทำใจให้ยอมรับเข็มฉีดยาได้ยาก แต่ลองหลับตาปี๋ นึกในใจว่าเจ็บแค่มดกัด มันก็จะเจ็บเท่านั้นจริงๆ

นอกจากจะไม่เป็นอันตราย เพราะเข็มฉีดยาและอุปกรณ์ที่ใช้รับรองว่าใหม่แกะกล่อง การบริจาคโลหิตยังเป็นการสละเลือดส่วนที่ร่างกายเราไม่ต้องใช้ แบ่งไปให้ผู้อื่นที่เขาจำเป็นกว่า ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายของเราจะมีเลือดอยู่ประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ซึ่งร่างกายใช้แค่ 15-16 แก้ว ส่วนที่เหลือ ถ้าไม่บริจาค ร่างกายก็จะขับเม็ดเลือดเก่าที่หมดอายุขัยออกมาในรูปปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่ออยู่แล้ว กาชาดรณรงค์ให้เราบริจาคทุกๆ 3 เดือนด้วยซ้ำ

อันที่จริง การบริจาคโลหิตมีหลายแบบ อาทิ บริจาคพลาสมา เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง แต่ที่เค้าบริจาคกันส่วนใหญ่เรียกว่าบริจาคโลหิตรวม ( whole blood) ไปนอนให้เค้าเจาะแค่ 15 นาทีก็เสร็จแล้ว

ประโยชน์

ประโยชน์ของการบริจาคเลือด มีดังนี้

•  รู้สึกว่าตัวเบาหวิวเพราะเสียเลือด เอ๊ย เพราะความภูมิใจที่ได้สละเลือดให้ผู้อื่น เป็นสาธารณกุศล เป็นการทำบุญอันยิ่งใหญ่ ผลจากความสุขใจนี้จะทำให้ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย (น่าสนใจนะสาวๆ) ว่ากันว่า กุศลจากการให้เลือดเป็นทานจะทำให้มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง

•  เป็นการตรวจสุขภาพฟรีทุก 3 เดือน เพราะถ้าเลือดของเรามีเชื้ออะไร กาชาดจะแจ้งให้เราทราบ ด้วยว่าเลือดทุกหน่วยที่บริจาค จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเชื้อต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื่อไวรัสตับอักเสบบี ซี เชื้อเอดส์ ฯลฯ

•  ได้รู้หมู่เลือดของตัวเอง (มีประโยชน์มากเวลาอ่านคำทำนายกรุ๊ปเลือด)

•  ได้เข็มที่ระลึกเป็นของสะสม (ทุกครั้งที่ 1,7,16,24,36,48,60,72,84,96 และ 108 ที่บริจาค)

 

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต
       ใช่ว่าทุกคนจะโชคดี มีโอกาสบริจาคเสียเมื่อไหร่ ต้องอาศัยบุญวาสนาพอประมาณ คนที่บ้านซึ่งเป็นชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ อยากบริจาคใจจะขาด เพียรพยายามไปเจาะเลือดที่สภากาชาดอยู่หลายครั้ง แต่บริจาคไม่ได้เสียทีเพราะเลือดจางมาก (จริงๆ แล้วแก้ได้ด้วยการกินยาธาตุเหล็กที่แจกเป็นประจำ) มิใยที่เจ้าตัวจะอ้อนวอนเจ้าหน้าที่อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ถ้าเข้าข่ายบริจาคได้ ควรฉวยโอกาสนี้รีบบริจาคโดยด่วน นึกถึงหัวอกคนอยากบริจาคแต่ไม่เข้าเกณฑ์บ้างเถอะ

ผู้โชคดีบริจาคได้จะต้องเข้าเกณฑ์ต่อไปนี้
1. อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์
2. น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพทั่วไปสมบูรณ์ดี
3. ไม่มีประวัติโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
4. ไม่เป็นไข้มาเลเรียมาในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา และไม่เป็นกามโรค โรคติดเชื้อต่าง ๆ ไอเรื้อรัง ไอมีโลหิต โลหิตออกง่ายผิดปกติ โรคเลือดชนิดต่าง ๆ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์
5. ไม่อยู่ในภาวะน้ำหนักลดมากในระยะสั้น
6. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ หรือสำส่อนทางเพศ ไม่มีประวัติติดยาเสพติด
7. งดการบริจาคโลหิตภายหลังผ่าตัด คลอดบุตรหรือแท้งบุตร 6 เดือน ( ถ้ามีการรับโลหิตต้องงดบริจาคโลหิต 1 ปี)
8. สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์

และต้องไม่มีประวัติดังต่อไปนี้

* คุณหรือคู่สมรส เคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชาย ที่ขายบริการทางเพศ โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา
* เคยเป็นผู้ที่เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยา
* รู้ตัวว่าติดเชื้อเอดส์

ก่อนบริจาคโลหิต

การจะบริจาคได้ต้องอาศัยแรงกายแรงใจ และความตั้งใจ ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า คือ
- นอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

•  มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาใดๆ
- รับประทานอาหารมาก่อน และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมัน
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
- สุภาพสตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์
- การบริจาคโลหิตครั้งต่อไปเว้นระยะ 3 เดือน ยกเว้นการบริจาคพลาสมาหรือเกล็ดโลหิต

ผู้โชคดีมีวาสนา และเข้าข่ายข้างต้นสามารถไปบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ ตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่อาคารใหม่ ลึกเข้าไปจากตึกเดิมไม่มากนัก สวยงาม สะดวกสบาย มีแอร์เย็นฉ่ำ เจ้าหน้าที่น่ารักและใจดีสุดๆ และที่สำคัญ..โอวัลตินเย็นอร่อยเหมือนเดิม

 

 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

เปิดรับบริจาคโลหิตทุกวัน ยกเว้นวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีปิดทำการ

จันทร์,พุธ,ศุกร์      เวลา  08.00-16.30 น.

อังคาร, พฤหัสบดี   เวลา 07.30-19.30 น.

เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา  08.30-15.30 น.


นอกจากรับบริจาคในสถานที่แล้ว กาชาดยังจัดรถเคลื่อนที่ออกไปรับบริจาคตาม สถานที่อื่นๆ

(ข้อมูลด้านวิชาการ คัดจากเว็ปไซต์ของศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย)